ธรรมะยามเช้า

เพราะรักชีวิต เราจึงกลัวตาย เพราะรักครอบครัว เราจึงกลัวความพลัดพราก เพราะรักความสุข เราจึงกลัวความทุกข์ ความกลัวเปรียบเสมือนเงาของความรัก


เมื่อมีเหตุคุกคามสิ่งและบุคคลที่เรารัก ความกลัวมักจะเกิดขึ้น และคนส่วนใหญ่ทนความกลัวและความรู้สึกไร้อำนาจที่จะป้องกันสิ่งที่กลัวนั้นได้ยาก เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้ไม่ชอบรู้สึกกลัวมักจะปล่อยให้จิตโกรธผู้ที่ทำให้กลัวหรือผู้ที่เชื่อว่าหรือคาดคะเนว่าเป็นเหตุ เสน่ห์ของความโกรธคือการดับความกลัวชั่วคราวและความรู้สึกมีพลัง โทษคือความใจร้อนและความหยาบของจิตที่โกรธย่อมมีผลกระทบต่อปัญญาที่ตัองใช้ในการป้องกันและแก้ปัญหา
พุทธศาสนาสอนให้เรารักด้วยปัญญา สำนึกในความไม่แน่นอนของชีวิตของตนและคนรอบข้างอยู่เสมอ ปัญญาเกิดขึ้นความกลัวก็น้อยลง ความกลัวน้อยลงความโกรธก็น้อยลง ความโกรธน้อยลงจิตจะมีความพร้อมเพื่อทำสิ่งที่ดีที่สุดในแต่ละเหตุการณ์


พระอาจารย์ชยสาโร

 
เกิดมาทำไม เรื่องโดย พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

     เมื่อยังไม่รู้ธรรมะ ผู้เขียนถามตนเองอยู่บ่อยครั้งว่า เกิดมาทำไม ทำไมต้องเกิด และจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร

     คำตอบที่ให้ตนเองนั้นดูจะไม่ชัดเจนและไม่มั่นใจว่าจะถูกต้องหรือไม่ ต่อเมื่อมีโอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรมและได้บวชแล้ว จึงมีความเข้าใจว่าคนเราเกิดมาทำไมและจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ผู้เขียนเห็นว่า ความเข้าใจในเรื่องนี้มีความสำคัญต่อชีวิต เพราะหากเข้าใจผิดก็จะดำเนินชีวิตไปในทางที่ผิด ความเข้าใจถูกจะนำพาชีวิตไปในทางที่ถูก ไม่เสียโอกาสที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งกว่าจะได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นเป็นของยากยิ่ง

     เหตุที่เรายังต้องเกิดมาหรืออยู่ในกระแสของการเวียนว่ายตายเกิด (วัฏสงสาร) นั้น เพราะเราไม่รู้ความเป็นจริงหรือ อวิชชา คือไม่รู้ในหลักของ อริยสัจสี่ ว่าชีวิตตั้งอยู่บนพื้นฐานของความทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ก็คือ ตัณหา อันได้แก่ ความอยากหรือความยินดีพอใจ (กามตัณหา ภวตัณหา) กับความไม่ยินดีพอใจ (วิภวตัณหา) โดยมีความยึดหรืออุปาทาน ต่อตัณหาดังกล่าว นี่เป็นเหตุที่นำเรามาเกิดหรือสายเกิด

     ส่วนการที่จะตัดกระแสของการเกิดหรือนิโรธ นั้นมีอยู่ นั่นคือถอดถอนตัณหาออกจากจิตโดยสิ้นเชิง วิธีการที่จะปฏิบัติเพื่อถอดถอนตัณหาได้ก็คือ มรรคมีองค์แปด หากปฏิบัติตามมรรคทั้งแปดองค์ได้สมบูรณ์แล้ว ก็ถึงอรหัตผล ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก นี่เป็นสายดับ

     เรื่องนี้ดูจะเข้าใจยากสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างลึกซึ้ง แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่จะนำมากล่าวถึง เรื่องที่จะนำเสนอในที่นี้ซึ่งก็คือ เราจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร

     เมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เรามีชีวิตอยู่เพื่อทำหน้าที่ หน้าที่ที่จะต้องทำมีอยู่สองประเภท ประเภทแรกหน้าที่ต่อผู้อื่นและสิ่งอื่น ประเภทที่สอง หน้าที่ต่อตนเอง

     หน้าที่ต่อผู้อื่น ได้แก่ หน้าที่ต่อบุคคลที่เราสัมพันธ์ด้วย นับตั้งแต่บุคคลใกล้ชิดที่มีความสัมพันธ์กันแนบแน่นในครอบครัว เช่นมารดา บิดา สามี ภรรยา บุตร ญาติพี่น้อง ห่างออกไปก็มีมิตรสหาย บุคคลในองค์กรที่เราร่วมงานด้วย ตลอดจนผู้คนในสังคม ไม่เว้นแม้แต่สัตว์เลี้ยง ซึ่งเราจะต้องปฏิบัติต่อบุคคลดังกล่าวตามขนบธรรมเนียม ประเพณี ค่านิยม กฎระเบียบข้อบังคับ และพันธกรณีที่มีต่อกัน การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข จึงต้องยึดหลักของการทำเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น อยู่อย่างเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักรับผิดชอบในหน้าที่ รู้จักข่มใจต่อสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย มีความอดทนอดกลั้นต่อความทุกข์ยากลำบากทั้งทางใจและทางกาย รู้จักเสียสละแบ่งปัน รู้จักให้อภัยผู้อื่น นอกจากนี้ควรให้หลักพรหมวิหารธรรม อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา มาเป็นแนวทางในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ธรรมดังกล่าวเป็นหลักธรรมกว้างๆ แต่ก็ใช้ได้ผลดี

     การทำหน้าที่ต่อผู้อื่นต้องมีความเข้าใจว่า คนเรามีความแตกต่างกันทั้งด้านร่างกายและจิตใจ พฤติกรรมจึงต่างกันเป็นธรรมดา เมื่อเป็นเช่นนี้ จะให้คนที่เราสัมพันธ์ด้วยมีพฤติกรรมอย่างที่เราต้องการในทุกกรณีนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ต้องเข้าใจในความแตกต่าง ยอมรับความแตกต่างโดยไม่แตกแยก

     ส่วนหน้าที่ต่อสิ่งอื่น หมายถึงต่อสิ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจ เช่น ของใช้ เพื่อการยังชีพและประกอบธุรกิจการงาน เราก็ต้องมีหน้าที่ดูแลรักษาเพื่อยืดอายุการใช้งาน หรือชะลอความเสื่อม อย่างไรก็ตาม วัตถุสิ่งของทั้งหลายมีธรรมชาติที่จะต้องเสื่อมไปเป็นธรรมดา ต่อให้ดูแลรักษาดีเพียงใดก็ตาม ก็ไม่สามารถทำให้มันคงอยู่ในสภาพเดิมได้

     หน้าที่ต่อตนเอง ประการแรก หน้าที่ในการเลี้ยงดูกาย คนส่วนใหญ่จะเอาใจใส่ในการเลี้ยงดูกายอยู่แล้ว โดยเฉพาะอาหารการกิน จะเลือกกินแต่อาหารที่ตนชอบ แม้ว่าอาหารบางอยางจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ หากบริโภคเข้าไปมากๆ กลับเป็นผลเสียต่อสุขภาพด้วย โรคภัยไข้เจ็บหลายอย่างจึงเข้าทางปากการดูแลรักษาร่างกายก็เพื่อให้มีอายุยืนยาว มีสุขภาพดี แต่ต่อให้ดูแลรักษาสุขภาพดีเพียงใดก็ตาม ร่างกายก็ต้องแก่ เจ็บ และตายเป็นธรรมดา ไม่ต่างไปจากการดูแลรักษาวัตถุสิ่งของเลย เราจึงต้องเตรียมใจที่จะยอมรับความแก่ ความเจ็บ และความตายซึ่งกำลังเดินทางเข้ามาด้วยใจที่กล้าหาญ ไม่หวั่นไหว เพราะเป็นความจริงที่ทุกคนจะต้องพบ

     หน้าที่ต่อตนเองอีกประการหนึ่งก็คือ การดูแลรักษาและพัฒนาจิตใจ ซึ่งมีความสำคัญที่สุดสำหรับการเกิดมาเป็นมนุษย์จิตที่ได้รับการพัฒนาแล้วนำสุขมาให้ นอกจากนี้จะทำการสิ่งใดก็ย่อมดี นำคุณประโยชน์มาสู่ตนเองและผู้อื่น คนเราจะดีจะชั่วจะสุขจะทุกข์ ก็ขึ้นอยู่กับจิตของตน ทุกคนต่างก็ปรารถนาความสุขแต่กลับสร้างทุกข์ให้ตนเองอยู่ร่ำไป เรารู้ว่าอารมณ์เหล่านี้เป็นทุกข์เช่น ความโกรธ ความเครียด ความวิตกกังวล ความห่วงใย ความอิจฉาริษยา ความเหงาซึมเศร้า แต่เรากลับมาปล่อยให้อารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับตนเองทุกเมื่อเชื่อวัน โดยไม่สามารถระงับยั้งหรือสลัดละวางออกจากจิต กลับสร้างความคุ้นเคย เป็นพฤติกรรมของจิต จนยากที่จะแก้ไขได้

     การเลี้ยงดูกายนั้น หากอาหารใดที่บูดเน่าเป็นของเสียหรือมีรสไม่อร่อย เราจะไม่กิน แต่จิตใจนั้นเรากลับให้จิตเสพของเสียที่บูดเน่า คำพูดส่อเสียด นินทาว่าร้าย หรือพฤติกรรมที่ไม่ดีของคนบางคนเป็นเสมือนของเสียที่บูดเน่า เพราะแสดงออกมาจากใจที่เสีย เมื่อสิ่งนั้นมากระทบ เรากลับรับมาเสพเป็นอารมณ์ของจิต จิตจึงพลอยเสียไปด้วย แทนที่จะรีบเอาทิ้งเสีย กลับหวงแหนเก็บเอาไว้เสพหรือครุ่นคิดอยู่เนืองๆ โดยที่ไม่มีใครบังคับให้ทำเช่นนั้น ความรู้ต่างๆที่อุตส่าห์เล่าเรียนมาทางโลกกลับไม่ช่วยอะไรได้เลย เป็นพวกความรู้ท่วมหัว แต่เอาตัวไม่รอดจากความทุกข์

     ที่เป็นเช่นนี้เพราะทุกคนเกิดมามีกิเลสตัณหาติดมากับตัวด้วยหากหมดกิเลสตัณหาก็คงไม่ต้องเกิดอีก กิเลสตัณหาไม่เคยเกรงกลัวใครและไม่มีอำนาจใดๆที่จะเอาชนะมันได้ มีแต่ธรรมะเท่านั้นที่จะเอาชนะกิเลสตัณหาได้ การดูแลรักษาและพัฒนาจิตจึงต้องใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเพราะลำพังความรู้ทางโลกมีแต่จะส่งเสริมให้กิเลสตัณหาและอุปาทานมีกำลังเข้มแข็งขึ้น ไม่สามารถที่จะสร้างสันติสุขภายในให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

     พระพุทธองค์ทรงให้แนวทางในการพัฒนาจิตไว้คือ สมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน ทางปฏิบัติทั้งสองนี้จะช่วยให้จิตได้รับการพัฒนา จากจิตหยาบ ไร้คุณธรรม สู่จิตประณีต มีคุณธรรมจากจิตที่มากด้วยทุกข์ สู่จิตที่มีสันติสุข จากจิตที่มากด้วยตัณหาสู่จิตที่เปี่ยมด้วยปัญญาหรือวิชชา เปลี่ยนจากจิตปุถุชน เข้าสู่จิตอริยชนได้ในที่สุด
     ขอเชิญชวนท่านผู้อ่านทุกท่านใช้โอกาสของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พัฒนาจิตของท่านตามแนวทางที่พระพุทธองค์ประทานไว้ อย่าให้เสียโอกาสที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์เลย
พระนิพนธ์ เรื่อง "วิธีสร้างบุญบารมี" ฉบับนี้ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงพระนิพนธ์ขึ้นเพื่อให้พวกเราทั้งหลาย ได้รู้และศึกษาเพื่อเข้าใจถึงวิธีสร้างบุญบารมี ในทางพระพุทธศาสนา อันได้แก่ การให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา พระองค์ ได้อธิบายชี้แจงแสดงเหตุและผลอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งนัก ทำให้พระนิพนธ์เล่มนี้ ได้รับความสนใจ จากพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างมากในปัจจุบัน และมีผู้ต้องการมีไว้ศึกษาเป็นจำนวนมาก เพื่อความสุขและความเจริญแก่ตนเองและบุคคลรอบข้างอยู่ตลอดเวลาจวบจนปัจจุบัน
คีตธรรมแห่งการไว้อาลัยและน้อมส่งเสด็จสู่พระนฤพาน ในการสิ้นพระชนม์ของเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนแสดงธรรมที่วัดอโศการาม
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้