การวางแผนสุขภาพ

 วางแผนการทำประกันสุขภาพ อย่างไรให้ปลอดภัย Health Happy Protection
#สุขภาพดีไม่มีขายถ้าอยากได้ต้องทำเอง การมีสุขภาพที่ดีไม่ใช่เรื่องยาก แค่ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำจิตใจผ่องใส ไม่ให้เครียด แต่ด้วยสภาวะปัจจุบันมีปัจจัยแวดล้อมที่ยากในการปฏิบัติตาม ทั้งด้านอาหาร การออกกำลังกาย และสภาวะความตึงเคลียด ทำให้ผู้คนมากมายมีแนวโน้มทางด้าน โรคร้ายแรงที่สูงขึ้น รวมทั้งสภาวะการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถควบคุมได้

ดังนั้น เราจึงต้องบริหารจัดการความเสี่ยงที่ไม่สามารถจำกัดได้โดยให้บริษัทประกันรับความเสี่ยงนี้แทนเรา ด้วยการทำประกันสุขภาพ ซึ่งเราจะมีค่าใช้จ่ายต่างๆไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่ายาต่างๆ ค่าใช้จ่ายทางด้านการแพทย์ต่างๆ ที่ไม่สามารถระบุค่าใช้จ่ายได้ในอนาคต ให้เป็นค่าใช้จ่ายที่แน่นอน ที่เราจ่ายให้บริษัทประกัน แทนการจ่ายให้กับโรงพยาบาล

#การทำประกันสุขภาพ คือ การที่บริษัทประกันตกลงที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จากการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้เอาประกันภัย ไม่ว่าค่ารักษาพยาบาลนั้นจะเกิดจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ให้กับโรงพยาบาลตามวงเงินที่ผู้เอาประกัน ประมาณความเสี่ยง ไว้ โดยลูกค้าจะจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยให้ทางบริษัทประกันแทน โดยทั่วไปสามารถแบ่งความคุ้มครอง เคร่าๆ ออกเป็น 8 หมวด ได้แก่

1.คุ้มครองค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล ค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉิน จากการเกิดอุบัติเหตุ
2.คุ้มครองค่าแพทย์ผ่าตัด
3.คุ้มครองค่าใช้จ่ายกรณีคลอดบุตร (กรณีคุ้มครองส่วนบุคคล)
4.คุ้มครองค่าใช้จ่ายเมื่อรับรักษาที่คลินิกหรือค่าตรวจผู้ป่วยนอก (OPD)
5.ค่าชดเชยระหว่างต้องนอนโรงพยาบาล (กรณีสูญเสียรายได้)
6.คุ้มครองค่าใช้จ่ายจากการดูแลจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
7.คุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษาทันตกรรม
8.คุ้มครองสัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์ด้านโรคร้ายแรง

ปัจจัยในการกำหนดค่าเบี้ยประกัน
1.อายุ หากอายุมากก็จะมีเบี้ยประกันแพงขึ้น ตามความเสี่ยง
2.เพศ เบี้ยประกันเพศหญิงจะสูงกว่าเพศชาย
3.สุขภาพ หากร่างกายแข็งแรงดี ไม่มีประวัติเจ็บป่วย จะสามารถทำประกันได้และมีโอกาสที่เบี้ยประกันก็จะถูกลง
4.ความเสี่ยงในอาชีพ หากประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุหรือป่วยสูง เบี้ยประกันก็จะแพงขึ้น
5.การดำเนินชีวิต ว่ามีการใช้ชีวิตสุ่มเสี่ยงหรือไม่ เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่เบี้ยประกันก็จะแพงขึ้น
6.รูปแบบการประกัน หากทำประกันแบบหมู่ก็จะทำให้เบี้ยประกันถูกลงเพราะมีการกระจายความเสี่ยงมากขึ้น

ข้อควรพิจารณาในการเลือกประกันสุขภาพ?
1. พิจารณาสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่มีอยู่ เช่น สวัสดิการประกันสังคมและสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลโดยประมาณนำมาเปรียบเทียบกันว่าเพียงพอหรือไม่ หากเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บธรรมดา สวัสดิการที่มีอยู่ก็อาจเพียงพอกับความต้องการ แต่ในยามเจ็บป่วยฉุกเฉินร้ายแรงหรือต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง การทำประกันสุขภาพเผื่อไว้ก็เป็นเรื่องที่ดีครับ

2. ศึกษารูปแบบประกันสุขภาพที่เราสนใจ ดูว่ามีความคุ้มครองอย่างไรบ้าง สามารถเบิกชำระได้ทันทีหรือไม่ เพราะถ้าเกิดโชคร้ายเจ็บไข้ด้วยโรคร้ายแรง และเป็นโรคที่ต้องมีการรักษาติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูง ซึ่งควรพิจารณาการทำประกันโรคร้ายแรงเพิ่มเติมด้วยครับ

3. ตรวจสอบโรงพยาบาลในเครือข่าย ต้องดูว่าประกันสุขภาพนั้นๆ มีโรงพยาบาลที่เราสามารถเดินทางไปได้โดยง่ายหรือไม่ มีโรงพยาบาลในเครือมากน้อยเพียงใด เพราะหากมีโรงพยาบาลในเครือข่ายจำนวนมากย่อมได้รับความสะดวกในเรื่องการสำรองจ่ายที่มากกว่า

4. ตรวจสอบค่าความคุ้มครองของประกัน ดูรายละเอียดความคุ้มครองในแผนประกันว่ามีค่าห้อง ค่ารักษาพยาบาล ค่าอาหารเท่าไร โดยหากโรงพยาบาลในเครือข่ายมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากก็จะทำให้เราต้องจ่ายส่วนต่างสูงเกินความจำเป็นได้ครับ

5. สอบถามข้อมูลอื่นๆจากตัวแทนประกันและบริษัทประกัน เช่น กรณีที่เราต้องจ่ายเงินสำรองไปก่อนบริษัทเราจะสามารถเคลมค่าใช้จ่ายได้ภายในกี่วันเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางการเงินของเรา

6. ควรซื้อประกันที่ครอบคลุมผู้ป่วยนอกด้วย ซึ่งจะช่วยให้เราได้รับความคุ้มครองและชดเชยค่ารักษาในกรณีที่ไม่ต้องการนอนโรงพยาบาล

 #ประกันสุขภาพ ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีอยู่ 2 รูปแบบ ดังนี้

1. ประกันสุขภาพส่วนบุคคล
ประกันสุขภาพแบบรายบุคคล โดยที่ผู้เอาประกันจะได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกันที่ตนเองซื้อไว้ มีการจะคุ้มครองเมื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล หรือเกิดการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ เป็นต้น ให้คุณได้อุ่นใจ หากโรคร้ายมาถึง

2. ประกันสุขภาพองค์กรหรือกลุ่มบุคคล
การรับประกันสุขภาพบุคคลหลายบุคคลภายใต้กรมธรรม์ประกันฉบับเดียว โดยที่มีเจ้านายหรือผู้ว่าจ้างเป็นผู้ถือกรมธรรม์ และมีลูกจ้างเป็นผู้เอาประกัน หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นเหมือนสวัสดิการให้กับลูกจ้าง ซึ่งลูกจ้างจะได้รับเอกสารใบรับรองการเอาประกัน หรือ บัตรประกันสุขภาพ เพื่อใช้สิทธิรักษาพยาบาล การประกันสุขภาพกลุ่มจะมีการให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับค่าชดเชย ค่ารักษาพยาบาล เมื่อมีการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย ทั้งกรณีการรักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ประกันแบบกลุ่มเหมาะสำหรับ กลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก จนถึง กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ในการทำประกันต้องไม่มีการปกปิดข้อมูลและให้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงไปตรงมา เพราะถ้าหากบริษัทล่วงรู้ขึ้นมา เราจะไม่ได้รับความคุ้มครอง หรืออาจต้องเพิ่มเบี้ยประกันเมื่อบริษัทเห็นว่าสามารถรับประกันได้ ดังนั้นเราจึงควรทำประกันสุขภาพตั้งแต่ยังมีสุขภาพที่แข็งแรงอยู่เพราะบริษัทประกันจะเอาสุขภาพและอายุเป็นสำคัญ ถ้าหากคุณเจ็บไข้ได้ป่วยหรือมีโรคประจำตัวไปแล้ว บริษัทประกันชีวิตจะไม่คุ้มครองยกเว้นการเจ็บป่วยๆเล็กๆน้อย ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขกรมธรรม์นั้นๆ รวมทั้งควรพิจารณาซื้อประกันอุบัติเหตุที่มีความคุ้มครองครอบคลุมถึงภาวะที่อาจเกิดพิการด้วยก็จะดีมาก โดยค่าสินไหมทดแทนจะจ่ายตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงสูงสุดไม่เกินจำนวนเงินที่เอาประกันไว้นั่นเอง เท่านี้ในยามฉุกเฉินเราก็สามารถเคลมกับทางประกันและรับผลประโยชน์ตามความคุ้มครองได้แล้วครับ

นอกจากประโยชน์ด้านค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพแล้ว การทำประกันยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 25,000 บาทและเมื่อรวมกับเบี้ยประกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท โดยเราสามารถแจ้งสิทธิ์กับทางบริษัทประกันชีวิตให้สามารถเปิดเผยข้อมูลกับกรมสรรพากรได้โดยไม่ต้องใช้เอกสาร แล้วจึงทำเรื่องลดหย่อนได้เลยครับ

ดังนั้นเราจะประมาทในชีวิตไม่ได้ แม้การทำประกันอาจจะต้องมีการเสียเบี้ยประกันเปล่าไปบ้าง แต่ในยามที่เราเกิดโรคภัยไข้เจ็บฉุกเฉินการทำประกันสุขภาพจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของเรา

ติดต่อสอบถาม

image
โทร : 094-451-7465
Line ID : @erconsulting
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้