ในแต่ละช่วงอายุ ต้องเผชิญกับโจทย์ชีวิตที่แตกต่างกัน ทำให้มีเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญแตกต่างกันไปด้วย รวมถึงในเรื่องการวางแผนการเงิน ดังนั้นจึงควรทราบกรอบความคิดในการบริหารจัดการการเงินให้เหมาะสมกับในแต่ละช่วงวัย ว่าควรให้ความสำคัญกับด้านใดเป็นพิเศษ เพื่อให้คนในแต่ละวัยสามารถเตรียมตัวในการวางแผนเพื่อรับมือได้อย่างถูกต้อง และในวันนี้ผมจะขออนุญาตแนะนำแนวทางในการวางแผนชีวิตและการเงินที่เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งในที่นี้ผมจะแบ่งเป็น 3 ช่วงอายุดังนี้
1. วัยศึกษา ตั้งแต่แรกเกิด 0 - 21 ปี ในวัยนี้เป็นวัยที่ ชัดเจนว่ามีการใช้จ่ายแทบจะ 100% ตั้งแต่ด้านสุขภาพและด้านการศึกษา โดยน้องๆยังไม่สามารถหารายได้ได้เอง ดังนั้นเป็นธรรมดาที่คนเป็นผู้ปกครองจะต้องวางแผนไว้ล่วงหน้าพอสมควรถึงรายจ่ายที่จะต้องรับผิดชอบเป็นระยะเวลานาน กว่า 20 ปี ดังนั้นผู้ปกครองจะต้องเตรียมรายจ่ายส่วนนี้ไว้ล่วงหน้าและหาวิธีในการสร้างรายได้ หรือผลตอบแทนในระยะสั้น ผมแนะนำให้ศึกษาเรื่องกองทุนและการลงทุนในระยะสั้นกลุ่มพันธบัตรฉลากออมสิน ทองคำหรือแม้แต่ประกันออมทรัพย์ระยะสั้น หรือแม้แต่ประกันควบการลงทุนที่มีความยืดหยุ่นในการถอน กรณีที่จำเป็นต้องใช้เงินฉุกเฉิน
2. วัยทำงาน แบ่งออกเป็น 3 ระยะในการใช้ชีวิต วัยทำงานระยะต้น (อายุ 22-30 ปี)
คนในวัยเริ่มต้นทำงาน ไม่ทำงานช่วงนี้ก็ยังมีภาระค่าใช้จ่ายที่มากกว่ารายได้พอสมควร จึงควรให้ความสำคัญกับ การทำความเข้าใจตัวเอง สร้างวินัยทางการเงินเป็นพิเศษ แต่คนส่วนใหญ่ในวัยนี้มักจะละเลยในการทำความเข้าใจกับตัวเองว่า ความต้องการในชีวิตของตนเองคืออะไร? นำไปสู่การทำงานหรือการใช้ชีวิตที่ไม่ตรงตามเป้าหมายที่ต้องการอย่างแท้จริง
ในส่วนของการวางแผนทางการเงิน สิ่งที่คนในวัยนี้ควรให้ความสำคัญมากที่สุดคือการเริ่มต้นสร้างพื้นฐานทางการเงินที่ดี รู้จักจัดการรายรับและไม่ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยมากจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้เกิดปัญหาทางการเงินตามมา เช่น มีรายได้ไม่เพียงพอจนเกิดการเป็นหนี้ นอกจากนี้ ยังควรมีเงินเก็บสำรองเผื่อฉุกเฉินในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันหรือต้องออกจากงาน หรืออยากมีทุนสำรอง สำหรับการทำอาชีพอิสระของตนเอง รวมทั้งต้องคำนึงถึงฐานะทางการเงินของตัวเองก่อนที่จะสร้างภาระทางการเงินใดๆ เพิ่มขึ้น เพราะอาจจะส่งผลกระทบในระยะยาวได้
ถ้าหากท่าน เริ่มจัดการชีวิตในช่วงเริ่มต้นการทำงานได้ดี จะมีพื้นฐานในการงานและการเงินค่อนข้างมั่นคง รวมทั้งยังมีความสามารถในด้านที่ถนัดอย่างชัดเจนมากขึ้น เพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาชีวิตในช่วงต่อไป
3. วัยทำงานระยะกลาง ช่วงสร้างครอบครัวและความมั่นคง (อายุ 31-40 ปี)
ในช่วงวัยนี้ หลายท่านมักจะแต่งงานแล้ว ทำให้จากที่อาจจะมีแค่ค่าใช้จ่ายส่วนตัว พอเข้าสู่วัยนี้จะมีภาระทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นมาก เนื่องจากต้องดูแลครอบครัว พอมีลูกก็จะยิ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลายเท่า ทั้งค่าเลี้ยงดู ค่าเล่าเรียน ค่าประกันสุขภาพลูก รวมถึงค่าเบี้ยประกันชีวิตที่อาจจะต้องพิจารณาทำเพื่อคุ้มครองภาระการเงินให้ครอบครัว จึงทำให้ถ้าใครวางแผนบริหารจัดสรรเงินได้ไม่มี จะกลายเป็นช่วงที่มีปัญหาการเงินได้ง่ายๆ
ดังนั้นการวางแผนการเงินจึงเป็นสิ่งที่คนวัยนี้ ควรจะให้ความสำคัญมากที่สุดไม่ใช่แค่เพียงการรู้จักเก็บออมลงทุน แต่จำเป็นต้องมีแผนในการจัดสรรรายได้และรายจ่ายแบ่งเงินแต่ละส่วนให้ชัดเจน ว่าจะนำไปทำอะไรบ้าง? และควรมีเงินเก็บสะสมเท่าไหร่เพื่อนำมาใช้จ่ายในอนาคตไม่ว่าจะเป็นค่าเล่าเรียนของลูกหรือเงินเพื่อใช้ในช่วงเกษียณอายุของตนเอง
นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่คนในวัยนี้มักจะละเลยคือ เรื่องของสุขภาพ เนื่องจากภาระเยอะหลายท่านจึงมัวแต่ยุ่งกับการทำงานเพิ่มความมั่นคงให้ครอบครัว ทำให้เป็นวัยที่มักจะมีความเจ็บป่วยเพิ่มเข้ามา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดูแลสุขภาพให้ดีเสมอ
4. วัยทำงานระยะปลาย ก่อนเกษียณ (อายุ 41-55 ปี)
วัยนี้เป็นวัยที่มีความมั่นคงทางการเงินสูงมากขึ้น เนื่องจากประสบการณ์ทำงานสูงขึ้น หน้าที่การงานมีความมั่นคง มีรายได้สูงขึ้น ในขณะเดียวกันภาระการเงินก็เริ่มค่อยๆ ลดลง ในการวางแผนทางการเงินจึงเน้นไปที่การลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนมากกว่า เพื่อเตรียมเป็นเงินสำรองสำหรับชีวิตหลังเกษียณ หรือเป็นเงินทุนสำหรับการเรียนในระดับสูงขึ้นไปของลูก ซึ่งอาจต้องใช้เงินก้อนใหญ่ หรือลงทุนในทรัพย์สินที่สามารถสร้างรายได้ เพิ่มมากขึ้น เช่น ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือกองทุน เป็นต้น
5. วัยเกษียณอายุ (หลังอายุ 60 ปีเป็นต้นไป)
เป็นวัยที่หลายคนไม่ได้ทำงานประจำแล้ว และควรเป็นวัยที่มีความมั่งคั่งมากที่สุด หากวางแผนการเงินและการใช้ชีวิตที่ดีมาตั้งแต่ต้น เมื่อเข้าสู่วัยนี้ สิ่งที่ควรให้ความสำคัญที่สุด คือการบริหารเงินหลังเกษียณ ให้มากเพียงพอในการใช้ชีวิตช่วงเกษียณให้นานที่สุด ภาระหนี้สินและความรับผิดชอบต่างๆ ควรจะต้องลดลงหรือหมดไปแล้ว ส่วนการลงทุน ควรมุ่งเน้นการลงทุนที่ไม่ความเสี่ยงหรือความผันผวนสูงๆ คาดหวังผลตอบแทนระดับกลางๆ แต่สะสมไปเรื่อยๆ ดีกว่า นอกจากนี้ก็ควรจะเป็นวัยที่ต้องดูแลสุขภาพให้ดี เพราะเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยเกษียณ โอกาสเจ็บป่วยก็เริ่มสูงขึ้นและอาจกระทบต่อการเงินที่ท่านวางแผนไว้
แต่ละช่วงวัยของแต่ละท่าน มีความแตกต่างกัน การวางแผนชีวิตและการเงินจึงไม่มีกฎตายตัวว่าใครควรทำอะไรหรือมีเงินเท่าไรในวัยนั้น แต่อย่างน้อยการเข้าใจ หลักการเริ่มวางแผนชีวิตและการเงินอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้เพิ่มโอกาสในด้านดีของชีวิตได้ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยไหน หากสามารถจัดการกับชีวิตได้ตามเป้าหมาย ก็นับว่าเป็นการประสบความสำเร็จตามช่วงวัยของท่านแล้ว